วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

บทความเชิงวิชาการ

บทความเชิงวิชาการเรื่อง "บัวผุด ดอกไม้มหัศจรรย์ แห่งไพร"
นายงามรัก จานทอง เจ้าพนักงานการเกษตร ประจำหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ

ชาวบ้านเขาเชื่อว่ามันเป็นบัวที่รองบาทพระพุทธบาทเจ้าตอนประสูติ!
ถ้าได้กินน้ำที่อยู่ในดอกของมันตอนบาน จะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง!
เอามาหั่นตากแดดแล้วต้มกินน้ำเป็นยาลดความดันได้!

นักชีวพฤกษ์ศาสตร์ ดั้นด้นค้นคว้าตามหาเพื่อศึกษา แต่พวกเขารู้แต่เพียงว่าบัวผุดเป็นไม้ที่ไม่มีรากแม้แต่เส้นเดียวไว้ดูดน้ำ ไม่มีใบหรือกิ่งก้าน ไม่มีสีเขียวหรือคลอโรฟีลล์ แม้แต่น้อยสำหรับสังเคราะห์แสง ยังความแปลกใจ ฉงนสนเทห์ และชวนค้นคว้าเพื่อไขปริศนาท่ามกลางป่าดิบชื้น ไฉนพืชสกุลนี้กลับผลิดอกขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก บางดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 90 ซ.ม. เสียด้วยซ้ำ?

เขาเหล่านั้นสนใจ ที่จะไขปริศนาอันเร้นลับซับซ้อน เกิดคำถามมากมาย เป็นต้นว่า มันใช้กลไกลอะไรในการขยายพันธุ์ ? ถ้าหากค้นหาคำตอบได้ คงให้ความกระจ่างมากมายเกี่ยวกับกลไกลอันพิสดารของมันเชื่อมโยงกับความหลากหลายของระบบนิเวศในป่าเขตร้อน คงจะเป็นโจทย์ที่จะได้ทำการศึกษาต่อไป

การค้นพบ "บัวผุด" ในประเทศไทยเชิงพฤกษ์ศาสตร์ เมื่อปี 2470 โดยนายแพทย์ คาร์ (Dr. A.F.G. Kerr ) ได้เก็บตัวอย่างดอกไม้ยักษ์นี้จาก จ.ระนองและที่ จ. สุราษฎร์ธานี และเมื่อปี พ.ศ. 2472 ก็ได้เก็บตัวอย่างได้อีก 1 ตัวอย่าง จาก จ.ระนอง และได้บันทึกไว้ว่าดอกไม้ยักษ์นี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 ซ.ม. หลายวันต่อมาจึงเก็บตัวอย่างได้อีก 1 ตัวอย่าง ซึ่งในขณะนั้นเข้าใจว่าเป็น "Rafflesia patma Blume " ชิดเดียวกับที่พบทางภาคใต้ของเกาะชวา

ในปี 2519 ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ ได้เก็บตัวอย่าง "บัวผุด" นี้อีกครั้งจากอุทยานแห่งชาติเขาสก (สุราษฎร์ธานี) ตัวอย่างนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทางพฤกษ์ศาสตร์ (Botamical Museum and Herbarium) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก อย่างไรก็ตามตัวอย่างที่หมอคาร์เก็บซึ่งเก็บรักษาไว้ ที่ตึกพืชพรรณ (กรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็น " พิพิธภัณฑ์พืชสิริธร") และพิพิธภัณฑ์ของราชอุทยานพฤกษ์ศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ รวมทั้งตัวอย่างที่ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ เก็บ ถูก "เก็บ" จน "ลืม" ไปว่ายังมี "ดอกไม้ยักษ์"ที่ยังรอคำอธิบายทางพฤกษศาสตร์อยู่

อีกแปดปีต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.วิลเล็ม เมเยอร์ นักพฤกษศาสตร์เชื้อสายดัชท์ แห่งมหาวิทยาลัยเคนตักกีประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาพรรณพฤกษ์ชาติวงศ์นี้มาเป็นเวลานานหลายปี ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง "New species of Rafflesiaceae ") ในวารสารบลูเมีย (Blumae) ฉบับที่ 30 ปี ปีพุทธศักราช 2527 หน้า 209-215 หลังจากนั้นใช้เวลากว่า 3 ปี ศึกษาพืชชนิดนี้ทั้งจากตัวอย่างแห้งและตัวอย่างในธรรมชาติ เสนอให้พืชชนิดใหม่ในทางพฤกษ์ศาสตร์ ตั้งชื่อพฤกษ์ศาสตร์ว่า Rafflesia kerrii Meijer โดยชื่อชนิดนี้ (specific epithet ) นั้นตั้งให้เป็นเกียรติแด่หมอคาร์ผู้เก็บตัวอย่างพืชชนิดนี้เพื่อการศึกษาทางพฤกษ์ศาสตร์เป็นผู้แรก

ชาวบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกดอกไม้นี้ว่า "บัวผุด" (คงเพราะความเหมือน "ดอกบัว"ที่ "ผุด" ขึ้นมาจากพื้นดิน) ลางถิ่นเรียก "บัวตูม"หรือ "บัวตุม" ก็มี ที่เรียกเช่นนั้นก็มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อดอกไม้ชนิดนี้บานจะมีเสียงดัง "ตุม" หรือ "ตูม" ซึ่งก็อาจเป็นไปได้เพราะเมื่อดอกจะบานคงต้องมีแรงดันของน้ำไปที่กลีบดอกสูงมาก ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พบดอกไม้ชนิดนี้แถวบริเวณป่าดิบเหนือน้ำตกบัวสวรรค์ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกดอกไม้นี้ว่า "บัวสวรรค์" อันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกนั้น นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านลางถิ่นในแถบใกล้เคียงกันนั้น ยังเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า "บัวพระพุทธเจ้า" และเชื่อกันว่า "ดอกบัว" ที่บานออกมารองรับพระพุทธบาทเมื่อแรกประสูติ แล้วเสด็จพระดำเนินบน "ดอกบัว" เจ็ดก้าว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์ผู้เป็นทารกแรกเกิดต้องก้าวยาวมาก เพราะดอกไม้พวกนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 70 เซนติเมตรตามที่หมอคาร์บันทึกไว้ อย่างไรก็ตาม ลุมพินีวันอันเป็นพุทธสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาลนั้น ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติของพืชพวกนี้ ชาวบ้านในหลายถิ่น ทั้งในมาเลเซีย และไทย มีความเชื่อตรงกันว่าดอกตูมของ "บัวผุด" ต้มน้ำดื่มมีสรรพคุณช่วยบำรุงครรภ์ ลางถิ่นเชื่อว่าช่วยให้สตรีมีครรภ์คลอดง่าย ลางถิ่นก็ใช้หลังคลอดจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ผมมาทำงานที่หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ใหม่ๆ ได้เข้าไปรังวัดเพื่อกันแนวเขตป่ากับพื้นที่ทำกินบริเวณป่าบ้านหลักเหล็ก ตอนพักเที่ยงเรานั่งกินข้าวกันบริเวณริมป่า พี่คนหนึ่งเดินไปหาน้ำดื่มจากลำห้วย กลับมาพร้อมดอกไม้ขนาดใหญ่ 1 ดอก พร้อมกับชวนพรรคพวกดื่มน้ำในดอกไม้นั้น และบอกผมว่าใครได้ดื่มน้ำที่อยู่ในดอกไม้นี้จะช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด ผมไม่กล้าดื่ม แล้วถามว่ามันคือดอกอะไร พี่เค้าตอบว่า "บัวผุด" หรือบัวตูม และพาพวกเราไปดูจุดที่เจอ ซึ่งยังมีอีกประมาณ 10 กว่าดอกที่ยังไม่บาน นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่ได้เจอดอกบัวผุด และก็อีกหลายครั้งในกาลต่อมา ในอีกหลายจุดแต่ละช่วงเวลา ทำให้ผมสนใจและศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของเจ้าบัวผุดมาโดยตลอด

พรรณพฤกษ์ชาติ วงศ์บัวผุด ในประเทศไทย
พืชในสกุลบัวผุด genus Rafflesia นั้นถูกจัดให้อยู่ในวงศ์บัวผุด หรือ family Rafflesiaceae โดยมีสกุลบัวผุดเป็นสกุลต้นแบบ (type genus ) ตามบัญชีรายการสกุลของพืชที่มีท่อลำเลียงในโลกซึ่งใช้ในพิพิธภัณฑ์แห่งราชอุทยานพฤกษ์ศาสตร์คิว เรียงตามวงศ์ ในหนังสือ "Vascula Plamilies and Genera" ซึ่งเรียบเรียงโดย ดร.บรุมมิตต์ ฉบับตีพิมพ์ในปีพุทธศักราช 2535 หน้า 644-645 ได้แจกแจงพืชในวงศ์บัวผุดนี้ ว่ามี 9 สกุล คือ
1. สกุล Apodanthes poit มี 7 ชนิด พบบริเวณเขตร้อนในทวีปอเมริกาใต้
2. สกุล Bdallophytum Eichler มี 4 ชนิด พบในประเทศเมกซิโก
3. สกุล Berlinianche(AHRMS)VATTIMO พบในเขตร้อนของทวีปอัฟริกา
4. สกุล Cytinus L. มี 6 ชนิด โดยพบในยุโรปบริเวณทะเลเมดิเตอเรเนียน 2 ชนิด นอกนั้นพบได้ที่อัฟริกาและมาดาการ์
5. สกุลบัวรากก่อ (Mitrastemma Makion)มี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งพบได้จากญี่ปุ่นถึงอาคเนย์อีกชนิดหนึ่งพบได้ที่เม็กซิโกและอเมริกากลาง
6. สกุล (pilostyles Guillemin) มีราว 12 ชนิด ชนิดหนึ่งพบในอิหร่าน ชนิดหนึ่งพบในตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย และราว 10 ชนิดพบในอเมริกาใต้
7. สกุลบัวผุด (Raffles R. Br.) มีไม่น้อยกว่า 12 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียอาคเนย์ พบในประเทศไทย 1 ชนิด
8. สกุลบัวครั่ง (Rhizanthes Dumortier) มี 3 ชนิด พบเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดเนียเซีย พบในประเทศไทย 1 ชนิด
9. สกุลกระโถนฤาษี (Sapria Grifftih) มี 3 ชนิด จากหิมาลัย ประเทศไทย และกัมพูชา โดยพบในประเทศไทยทั้ง 3 ชนิด

เป็นที่หน้าแปลกใจที่เมื่อมีการศึกษาทบทวนพรรณไม้ในวงศ์นี้โดยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศและตีพิมพ์ผลการศึกษาใน"ตำราพรรณพฤกษ์ชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand)" เมื่อเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช 2515 นั้นได้รายงานพืชวงศ์นี้ไว้เพียง 2 สกุล 3 สกุล ชนิดเท่านั้น ไม่มี "บัวผุด" หรือบัวตูม (Raffesia kerri Meijer) "อยู่ในรายการด้วย แม้จะรู้กันว่าพืชชนิดนี้พบได้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะได้จากตัวอย่างที่เก็บด้วยหมอคาร์ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2470 และ2472 ทั้งยังมีชื่อ "บัวตูม " ปรากฏอยู่ในหนังสือ "ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ฉบับชื่อพื้นเมือง-ชื่อพฤกษ์ศาสตร์") โดยพระยาวินิจวนันดรที่กรมป่าไม้จัดพิมพ์เผยแพร่ในปีพุทธศักราช 2503 หน้า 5 โดยระบุว่า พืชที่มีชื่อพื้นเมืองว่า "บัวตูม" มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า "Rafflesia spp" ซึ่งหมายความว่าทราบแต่อยู่ในสกุล Raffesia แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดใด ต่อมาในหนังสือ "ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาตร์-ชื่อพื้นเมือง)" ของ ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ ที่กรมป่าไม้จัดพิมพ์ข้นในปีพุทธศักราช 2523 (หนังสือนี้ได้ปรับปรุงแกไขจากต้นฉบับเดิมที่รวบรวมโดยนายสุขุม ถิระวัฒน์ และพิมพ์แจกเป็นของที่ระลึกในวันคล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบ 50 ปี เมื่อปี พุทธศักราช 2419) หน้า 284 ได้ให้ชื่อพฤกษ์ศาสตร์ว่า "Rafflesia patma Bl " ว่าเป็น "บัวผุด" (Bua phut (Sura thani)ไว้

เท่าที่ทราบกัน ณ ปัจจุบัน พรรณพฤกษ์ชาติวงศ์บัวผุดที่มีทั้งหมด 9 สกุลพบในประเทศไทย 4 สกุล คือสกุลบัวผุด (Rafflesia) 1 ชนิด สกุลกระโถนฤาษี (Sapria) 3 ชนิด สกุลบัวครั่ง (Rhizanthe) 1 ชนิด และสกุลบัวรากก่อ (Mitrastemma) 21 ชนิด รวมทั้งหมด 6 ชนิด ทุกชนิดเป็นพืชเบียน (Parasitic plant) ไม่มีคลอโรฟิลล์ ไม่มีราก ดอกเป็นดอกเดี่ยว มักเป็นดอกเพศเดี่ยว ยกเว้น บัวรากก่อที่มีดอกสมบูรณ์เพศ (คือในหนึ่งดอกมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย)

การศึกษาเพื่อจำแนกพรรณพฤกษ์ชาติตามวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylognetic classification) ของพืชในวงศ์นี้ 8 สกุล (ยกเว้นสกุล Berlinianche (harms) Vattimo) โดยใช้ลักษณะต่าง ๆ 16 ลักษณะ (character) เช่น เป็นพืชเบียนดอกเพศเดียวหรือดอกสมบูรณ์เพศรังไข่เป็นชนิดอย่างสูงหรือต่ำ ได้แผนภาพแสดงสายวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (cladogram) ที่แสดงให้เห็นว่าสกุลบัวผุด (Raffeia R .Ber) สกุลกระโถนฤาษี (Sapria Griffith) และสกุลบัวครั่ง (Rhizanthes Dumorties )ทั้ง 3 สกุลมีวิวัฒนาการร่วมกันซึ่งสอดคล้องกับการจัดให้อยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์บัวผุดหรือ affesiaceae แต่สกุลบัวรากก่อ (Mitrastemma Makino) มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันมากสนับสนุนข้อเสนอของนักพฤกษ์ศาสตร์หลายสำนักที่ให้แยกสกุลนี้ออกจากวงศ์บัวผุด ตั้งเป็นวงศ์ใหม่ คือวงศ์บัวรากก่อ หรือ Mitrastemmataceae (Mitrastemacae)

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะขอรวมเอา "บัวรากก่อ (Mirastemma yamamotoi Makino) "ไว้ในวงศ์บัวผุดด้วยเพราะยังมีลักษณะที่สอดคล้องกับพืชในวงศ์บัวผุดอยู่มากดังที่ศาสตร์ตาจารย์อาร์เธอร์ครอนควิส (Arthur Cronquist )เขาเขียนไว้ในตำราของเขาว่า "whether…… Included in Rafflesaceae or kept as a separate family is largeiy a mattly of taste " ซึ่งแปลว่า " (สกุลบัวรากก่อนี้) ไม่ว่า (จะ) ..จัด (จัด) รวมอยู่ในวงศ์บัวผุด หรือจะแยกออกมาเป็นวงศ์ต่างหากนั้น เป็นเพียงเรื่องของรสนิยมเท่านั้น"!

ชีววิทยาของบัวผุด
บัวผุด (Rafflesia kerrii Meijer ) เป็นพืชเบียนโดยการแทงเนื้อเยื้อคล้ายเส้นเข้าไปในจุดที่กำลังเจริญของรากหรือเถาอ่อนของพืชให้อาศัย ตาดอกจะเริ่มพัฒนาอยุ่ภายในพืชให้อาศัย แล้วเจริญออกมาที่ผิวนอกเมื่อมีขนาดรอบวง 15 ถึง 16 เซนติเมตร ตาดอกในระยะนี้มีแผ่นเกล็ด (scale)หุ้ม 5ชั้น ๆละ 3 เกล็ด จากนั้นบริเวณเปลือกรากหรือเถาที่มีตาดอกโผล่ออกมา จะเริ่มเป็นกาบแข็งรูปถ้วย (cupule) รองรับตาดอกที่จะค่อย ๆ เจริญเป็นดอกตูม แผ่นเกล็ดชั้นนอกสุดที่หุ้มกาบแข็งรูปถ้วยมีสีน้ำ ตาลแดง จะแห้งแตก และหลุดออกง่าย ในดอกตูมที่มีขนาดใหญ่ แผ่นเกล็ดนี้อาจมีขนาดกว้างถึง 14 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร เมื่อตาดอกเจริญและโตขึ้นเรื่อยๆ จะดันแผ่นเกล็ดให้แตกและหลุดออก ทำให้เห็นผิวด้านล่างของชั้นกลีบรวม ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มเมื่อมีแผล ตาดอกที่โตเต็มที่อาจมีขนดผ่าศูนย์กลางได้ถึง 24 เซนติเมตร ดอกตูมนี้จะได้อาหารเลี้ยงจากพืชทีให้อาศัย จนถึงระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเชื่อกันว่าราว 8 ถึง 12 เดือน ดอกตูมก็จะบานออก ดอกบานมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 ถึง 80 เซนติเมตร ชั้นกลีบรวม (perigone) ที่มีโคนกลีบรวมเชื่อมกันเป็นท่อ (perigone tube) ปลายเว้าเป็น 5 กลีบ (perigone lobe ) แต่ละกลรีบปลายกลมหรือเกือบกลม ขนาด กว้าง 19 ถึง22 เซนติเมตร ยาว 13 ถึง 18 เซนติเมตร มีสีแดงสด มีหูด (wart) เล็กๆรูปร่างไม่สม่ำเสมอ สีชมพู อยู่ทั่วกลีบ มี "กระบัง" (diaphragm) อันเป็นรยางค์ของท่อกลีบรวม สีแดงสด เป็นแผ่นโค้งขึ้นเล็กน้อย โคนกระบังเป็นรูปห้าเหลี่ยม วัดรอบวงได้ 60 ถึง 70 เซนติเมตร กว้าง 4 ถึง 10 เซนติเมตร มีช่องเปิดเห็นส่วนกลางดอกอยู่ด้านใน ช่องเปิดนี้เป็นรูปไข่ กว้างราว 12 เซนติเมตร ยาวราว 17 เซนติเมตร บนกระบังมีจุดเล็กสีชมพูเป็นจำนวนมาก ด้านในของกระบังเรียก "หน้าต่าง (window)" มีลายสีขาวเป็นวงๆต่อลงไปถึงด้านในของท่อกลีบรวมที่มีรยางค์เป็นแถบขนกว้าง 2 ถึง 4 เซนติเมตร เรียก "ราเมนตา (ramenta)"

  



ตรงโคนกลางดอกมีแท่นที่พัฒนามาจากก้านเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียที่เชื่อมติดกัน เรียกว่า "สดมภ์ (colum )" ปลายสดมภ์แผ่แบนเป็น "จาน (dish)" ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ถึง 18 เซนติเมตร ขอบจาน (collar) จะสูงและตั้งขึ้นบน จากนั้นมีตุ่มยาวเรียก "แง่ตั้ง (process)" 29 ถึง 44 อัน เรียงเป็นวง 2 ถึง 3 วง แง่ตั้งแต่ละอันยาวราว 3 เซนติเมตร ฐานรูปรี ค่อยๆแบนไปทางปลายที่ปลายตุ่มยาวนี้จะมีรูปคล้ายใบมีด หนา 0.5 ถึง 2 มิลลิเมตร และกว้างได้ถึง 2 เซนติเมตร ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ต่างดอกกัน ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้อยู่ใต้จาน เกสรตัวผู้มี 26 ถึง 36 อัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ถึง 6 มิลลิเมตร แต่ละอันอยู่ในช่องขนาดกว้าง 6 ถึง 10 มิลลิเมตร ส่วนดอกตัวเมียมีรังไข่อยู่ใต้ส่วนของดอก ภายใต้มีออลวุลจำนวนมากติดอยู่ที่ผนังรังไข่ ผลเป็นชนิดที่เมื่อสุกมีเนื้อนิ่ม ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

ลักษณะทั่วไปของพรรณพฤกษ์ชาติวงศ์บัวผุดที่พบในประเทศไทย
พืชในวงศ์บัวผุดเป็นพืชเบียนที่ไม่มีใบ ส่วนของต้นมักลดรูปเป็นโครงสร้างคล้ายกลุ่มใยรา (ยกเว้น ในสกุลบัวรากก่อที่มีลำตัวพัฒนามาชัดเจน) ดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงใหญ่ มักเป็นดอกเพศเดียว (ยกเว้นในสกุลบัวรากก่อที่มีดอกสมบูรณ์เพศ) กลีบดอกมีสมมาตรตามรัศมี วงกลีบรวมมีปลายแยกเป็น 4 ถึง 16 กลีบ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก อับเรณุไม่มีก้านส่วนปลายของแท่งกลางดอก (ซึ่งเป็นส่วนก้านเกสรตัวผู้และก้านเกสรตัวเมียที่เชื่อมติดกัน) คล้ายจานรังไข่เป็นชนิดอยู่ต่ำหรือกิ่งต่ำ มี 4 ถึง 8 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 1 ช่อง แต่ละช่องมีออลวุล จำนวนมากติดอยู่ที่ผนัง ผลเป็นผลมีเนื้อชนิดที่มีเมล็ดเล็กๆจำนวนมาก

  

รูปวิธานจำแนกสกุล
1. ลำต้นลดรูปมาก ดอกเพศเดียว (unisexual)
2. ชั้นกลีบรวมมี 5 หรือ 10 กลีบ ปลายกลีบมนหรือแหลม
3. ดอกมีขนาดใหญ่ ชั้นกลีบมี 5 กลีบ ...........สกุลบัวผุด (Raffesia R.Br.)
3. ดอกมีขนาดเล็ก ชั้นกลีบรวมมี 10 กลีบ ....................สกุลกระโถนฤาษี (Sapria griffith)
2. ชั้นกลีบรวมมี 16 กลีบ ปลายกลีบเรียวแหลมและเป็นติ่งยาว ........สกุลบัวครั่ง (Rhizanthes Dumortier)
1. ลำต้นพัฒนาเห็นได้ชัดเจน ดอกสมบูรณ์เพศ (bisexual) ...............สกุลบัวรากก่อ (Mitrastemma Makino)

พืชให้อาศัย (host) ของบัวผุดของประเทศไทยเป็นไม้เถาในสกุลเถาวัลย์น้ำ (Tetrastigma) ในวงศ์องุ่น (Vitidaceae) พืชสกุลนี้หลายชนิดมีน้ำมาก ป็นแหล่งหนึ่งของพรานป่าเวลาหลงทางและขาดน้ำ ชาวบ้านเรียก "เถาวัลย์น้ำ" หรือ "เครือเขาน้ำ" ศาสตราจารย์วิลเล็ม เมเยอร์ ผู้บรรยายลักษณะทางพฤกษ์ศาสตร์และตั้งชื่อทางพฤกษ์ศาสตร์ของพืชชนิดนี้รายงานว่าพืชให้อาศัยของบัวผุดคือ "เครือเขาน้ำ" (TETEASTIGMA QUARDRAGULUM Craid GAGNEPAIN)" นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า บัวผุดที่อยู่บนเถาพืชเดียวกันจะเป็นดอกเพศเดียวกัน

เมื่อดอกบัวผุด (Rafflesia Kerrii Meijer) บานกลีบดอกจะส่งกลิ่นคล้ายเนื้อเน่า กลิ่นจะแรงมาก ในวันแรกที่ดอกบาน และจางลงตามกาลเวลาที่ผ่านไปจนดอกโรย (กลิ่นจากด้านในดอกจากส่วนใต้กระบังลงไปหอมเหมือนกลิ่นผมไหม้) กลิ่นเหมือนเนื้อเน่าจากดอก ร่วมกับดอกเกสรสีขาวที่หน้าต่าง ลักษณะของแง่ตั้งบนจานกลางดอก เป็นต้น จะช่วยล่อแมลงให้ผสมเกสร ดร. ฮันส์ เบนซิเกอร์ รายงานว่าแมลงวัน (carrion flies) ที่ช่วยผสมเกสร Chrysumya villeneuvei Patton , Chrysumya rufifacies (Macquart) Lucilia porphyrina (Walker และHypoopygionpsis tumrasvini KURAHASHI

  

ทั้งหมดจัดอยู่ในวงศ์ CALLIPHORIDAE โดยที่แมลงวันเหล่านี้จะตามกลิ่น แล้วมุดลงไปในใต้จานของดอกตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูอยู่ เรณูที่มีลักษณะเหนียวจะติดอยู่บนด้านหลังของแมลงวันเหล่านั้น โดยเรณูที่ติดออกมานั้นจะแข็งตัวและติดอยู่บนหลังแมลงวันนั้นได้หลายวัน เมื่อมีดอกตัวเมียอยู่ในบริเวณใกล้เคียง วันที่มีเรณูติดอยู่บนหลังจะมุดตามกลิ่นของดอกตัวเมียนั้น ไปยังบริเวณที่เป็นยอดเกสรตัวเมีย โดยนำเรณูเข้าไปผสมเกสร

หลังการผสมเกสรและดอกโรยแล้ว รังไข่ก็จะเจริญเป็นผล รูปคล้ายทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ แข็ง เมื่อยังอ่อนอยู่แต่จะนิ่มและมีกลิ่นหอมเมื่อสุก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กมากเป็นจำนวนมาก การกระจายพันธุ์ไปเจริญ (re-infection) เป็นตาดอกในเถาของพืชให้อาศัยใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไร? ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนมีผู้เสนอสมมุติฐานหลายอย่างเช่น สมมุติฐานที่ว่าสัตว์ที่มีเล็บเช่น กระรอก มากินผลไม้ ทำให้เมล็ดที่มีขนาด เล็กมากติดไปตามเล็บ เมื่อสัตว์พวกนี้วิ่งหรือปีนป่ายไปตามเถาของพืชให้อาศัย จะฝัง เมล็ดเหล่านั้นลงในบริเวณเถาของพืชให้อาศัยยังอ่อนอยู่หรือเป็นแผล (wounded) บางสมมุติฐานว่าอาจมีสัตว์หลายชนิดรวมทั้งสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง หมูป่า เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสัตว์เหล่านั้นจะกินผลไม้สุกของบัวผุดทำให้เมล็ดผ่านเข้าไปในทางเดินอาหารของสัตว์นั้น ซึ่งจะช่วยเร่งเมล็ดเจริญพันธุ์และงอกได้ดี เมื่อเมล็ดถูกขับถ่ายออกมาอาจจะถูกนำไปเจริญเป็นตาดอกบนเถาของพืชให้อาศัยต่อไปได้ อาจโดยอาศัยน้ำช่วยชะพาไป หรือโดยการช่วยของไส้เดือนฝอย อย่างไรก็ตามกลไกของการเข้าไปเบียนในพืชให้ อาศัยของบัวผุดยังคงเป็นปริศนาทางวิทยาศาสตร์ที่รอวันคลี่คลายด้วยกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

จะเห็นได้ว่าในชีพจักรของบัวผุดนั้น ยังคงมีคำถามในอีกหลายประเด็นที่เป็นปริศนาและยังรอคำตอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพืชให้อาศัยหรือเรื่องการแพร่ของเมล็ดเพื่อเข้าไปเบียนในพืชให้อาศัยอีกครั้ง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชชนิดนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ ทางชีวภาพที่เอื้อต่อการคงอยู่ของพืชนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืชอาศัย (host) แมลงที่ช่วยผสมเกสร (pollinator) หรือสัตว์ที่ช่วยกระจายพันธุ์ล้วนส่งผลให้พืชที่เปราะบางเช่นบัวผุดที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติก่อนที่เราและท่านทั้งหลายจะเข้าใจและอธิบายชีววิทยาของพืชชนิดนี้ได้อย่างกระจ่างชัดและเป็นวิทยาศาสตร์

บัวผุดมีเขตการกระจายพันธุ์ ทางภาคใต้ของประเทศไทยโดยอาจพบได้เหนือสุดที่อุทยานแห่งชาติห้วยยางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และใต้สุดจากป่าดิบในรัฐกาลิมันตันและเปรัคทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้นบริเวณที่พบบัวผุดที่จังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์ก็ไม่ห่างจากชายแดนพม่า จึงเชื่อว่าพืชชนิดนี้น่าจะมีในป่าดิบที่ต่อเนื่องกันในประเทศพม่าด้วย ดังนั้น บัวผุดจึงจัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากเส้นแบ่งพื้นที่ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม พืชชนิดนี้มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยพบได้ตั้งแต่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 ถึง 1,400 เมตร ในประเทศไทยพบได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา (จังหวัดระนอง) อุทยานแห่งชาติพังงา (จังหวัดพังงา) อุทยานแห่งชาติเขาสก (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) อุทยานแห่งชาติเขาพนม (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และอุทยานแห่งชาติบางลาง (จังหวัดยะลา) หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ (จังหวัดชุมพร)

จากการที่ผมต้องทำงานอยู่ในเขตป่าเป็นเวลาหลายปี ได้พบเห็นและเฝ้าสังเกตเจ้าบัวผุด ได้ศึกษาค้นคว้าจากสิ่งพิมพ์ เอกสาร งานวิจัย หลายชิ้นพบว่าเจ้าบัวผุดใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเป็นตุ่มตาจนบานใช้เวลาประมาณ 9 เดือน และใช้เวลาบานแค่ 5 วัน ดอกก็เริ่มโรย เป็นสีคล้ำๆจนแห้งสลายไปกับดิน แต่เอกสารงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ไม่เคยมีใครเห็นดอกบัวผุดบานในระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคมเลย แต่ผู้เขียนและเจ้าหน้าที่หลายคนในพื้นที่หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะได้พบเห็นเจ้าดอกบัวผุดบานในช่วงนี้หลายครั้ง จึงทำให้สนใจว่าเป็นเพราะอะไร ที่อื่นถึงไม่บานในช่วงนี้หรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หรือเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าที่อื่น หรือเพราะสภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าของที่นี่ เหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาที่ท้าทายให้ผมและคณะวิจัยต่างๆยังคงต้องศึกษาและค้นคว้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น